หน้าแรก รีวิวจากนักท่องเที่ยว เที่ยวตราด สั...

เที่ยวตราด สักการะเสด็จเตี่ย ตะลุยสะพานท่าเรือ จัดเต็มอาหารทะเล ใน 1 วัน!

เที่ยวตราด

หยุดวันเดียวจะไปเที่ยวที่ไหนดี? โจทย์นี้คงไม่ยากถ้าไม่เจอข้อแม้ดังนี้…

1.ไม่อยากไปเที่ยวจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ เพราะกลัวคนเยอะ

2.แค่อยากเห็นทะเล แต่ไม่มีเวลาลงเล่นน้ำ

3.อยากกินอาหารทะเลสดราวกับเพิ่งขึ้นจากทะเล

เมื่อมีข้อแม้เช่นนี้ คำตอบของฉันกับเพื่อนจึงไปลงเอยที่ “จังหวัดตราด” ค่ะ (อีกสาเหตุเนื่องจากฉันต้องการกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ด้วยค่ะ) จังหวัดตราดเป็นจังหวัดเล็กๆ (อันดับที่ 62 ของประเทศไทย) เงียบสงบ รูปร่างคล้ายหัวช้าง จังหวัดตราดเป็นจังหวัดชายแดนสุดฝั่งทะเลตะวันออก ติดอ่าวไทย และขึ้นชื่อเรื่องมีเกาะที่สวยงามมากมายโดยเฉพาะเกาะช้าง จังหวัดตราดจึงได้ชื่อว่าเป็น “เมืองเกาะครึ่งร้อย” ค่ะ เราออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ ไปตามถนนบางนา-ตราด ทางหลวงหมายเลข 3 ค่ะ ระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4.30 ชั่วโมงค่ะ

ถนนสู่จังหวัดตราด

เรามาถึงจังหวัดตราดก็เกือบ 11 โมงแล้วค่ะ เรายึดคติที่ว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” เราจึงมาที่ร้าน “ข้าวแกงเมืองตราด” ร้านข้าวแกงชื่อดังที่ถ้าไม่มากินอาจถือว่ายังมาไม่ถึงเมืองตราดค่ะ ร้านตั้งอยู่ อ.เมือง ต.วังกระแจะ โดยให้ขับรถมุ่งหน้าไปทาง อ.คลองใหญ่ ร้านอยู่ก่อนถึงสะพานข้ามแม่น้ำตราด ฝั่งตรงข้ามแม็คโครค่ะ ร้านนี้เปิดตั้งแต่เช้าประมาณ 6 โมงเช้า ประมาณบ่ายโมงก็มักจะขายหมดแล้วค่ะ กับข้าวเหลือให้เลือกประมาณ 20 อย่าง ซึ่งถือว่าน้อยลงไปเยอะแล้วค่ะสำหรับร้านนี้ค่ะ อาหารที่มีให้เลือกก็มีตั้งแต่รสชาติกลางๆ อย่าง หมูทอด ไก่ผัดขิง แกงจืด ไข่ยัดไส้ ฯลฯ ไปจนถึงอาหารรสเผ็ดถึงใจอย่างผัดเผ็ดกวาง ผัดเผ็ดหมูป่า หรือแกงรสเผ็ดปานกลางอย่างแกงส้มปลาแป้นใบมะขามอ่อน แกงคั่วหอยแครงค่ะ

แต่ทีเด็ดสุดๆ ของร้านนี้อยู่ที่ “น้ำพริกกะปิ” พร้อมผักลวก ทั้งแตงกวา กะหล่ำ มีเสิร์ฟฟรีทุกโต๊ะค่ะ นอกจากนี้หน้าร้านยังมี “ดอกอัญชัน” ให้ลูกค้าที่ชื่นชอบเก็บมากินแกล้มน้ำพริกได้เลยค่ะ ส่วนรสชาตินั้นก็แซ่บอย่าบอกใคร รสกะปิเข้มข้นกำลังดี ไม่ฉุน แถมปราศจากผงชูรส แต่แนะนำว่าคนที่ไม่สันทัดรสเผ็ดควรกินแต่น้อยนะคะ

ชุดน้ำพริกกะปิพร้อมผักลวกฟรีทุกโต๊ะ

อ้อ…ร้านนี้เขาไม่ได้แถมน้ำพริกกะปิอย่างเดียวนะคะ เขาแถม “น้ำซุป” รสกลมกล่อม ซดคล่องคอด้วยค่ะ ส่วนอาหารจานหลักของเราในวันนี้ก็มีหลายอย่างค่ะ เริ่มที่จานแรก “แกงคั่วหอยแครง” เนื้อหอยสด เคี้ยวหนุบในแกงกะทิเข้มข้น ใส่ใบชะพลูหั่นฝอย นอกจากจะอร่อยยังได้ประโยชน์เพราะใบชะพลูเป็นผักที่ชอบที่ลุ่มและความชื้น เหมาะกับภูมิประเทศที่ฝนตกชุกอย่างภาคใต้กับภาคตะวันออกค่ะ โดยคนภาคใต้นิยมนำมาใส่แกงกะทิหอยขม ส่วนภาคตะวันออกก็นิยมนำมาแกงเช่นเดียวกัน เช่น คนจันทบุรีนำมาใส่แกงปลาค่ะ ใบชะพลูมีรสเผ็ดร้อนจึงช่วยชูรสแกงหอยให้จัดจ้านขึ้น แถมยังไม่เลี่ยนกะทิอีกด้วย นอกจากนี้ใบชะพลูยังมีสรรพคุณช่วยขับลมและขับเสมหะอีกด้วยค่ะ

แกงคั่วหอยแครง

จานต่อมาเหมาะสำหรับคนชอบอาหารป่ารสจัดค่ะ คือ “ผัดเผ็ดกวาง” ใครไม่เคยกินต้องลองค่ะ เนื้อกวางจะเหนียวกว่าไก่แต่ไม่เหนียวเท่าเนื้อค่ะ เมื่อนำมาผัดรวมกับเครื่องแกงเช่น ใบยี่หร่าที่มีมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและมีรสร้อนแรง แถมมีสรรพคุณช่วยแก้อาการคลื่นไส้ เมื่อนำมาผัดกับเนื้อกวางจึงได้รสชาติที่จัดว่าเด็ด!

ผัดเผ็ดกวางกับไข่ต้ม

อีกจานเหมาะสำหรับคนไม่กินเผ็ดค่ะ คือ ไก่ผัดขิงกับหมูทอดค่ะ ไก่ผัดขิงรสร้อนกำลังดีจากขิง ซึ่งมีสรรพคุณเด็ดๆ มากมาย เช่น มีสารต้านอนุมูลอิสระจึงช่วยชะลอความแก่ บรรเทาอาการไอและหวัด ฯลฯ ส่วนหมูทอดร้านนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทีเด็ดค่ะ เพราะเขาหมักหมูจนนุ่ม แถมมีน้ำซอสเค็มๆ หวานๆ ช่วยให้รสชาติเข้มข้นค่ะ

ไก่ผัดขิงและหมูทอด

ตบท้ายด้วยอาหารซดคล่องคออย่างแกงจืดมะระซี่โครงหมูค่ะ ซี่โครงหมูตุ๋นมาไม่ยุ่ยเกินไป เช่นเดียวกับเนื้อมะระที่นิ่มกำลังดีและไม่ขมเกินไปค่ะ ส่วนประโยชน์ของมะระก็มีมากมายอีกเช่นกัน เช่น ช่วยฟอกเลือด ลดน้ำตาลในเลือด ฯลฯ

แกงจืดมะระซี่โครงหมู

จัดการมื้อกลางวันเรียบร้อยแล้ว เราก็เดินทางไปยังสถานที่ที่ขึ้นชื่อว่า “สุดแดนบูรพา” ของประเทศไทยกันค่ะ ซึ่งก็คืออำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด เนื่องจากเป็นส่วนที่ติดทะเลอ่าวไทย และในวันนี้เราก็แวะมาเยี่ยมชมและสักการะ “อนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้าง” กันค่ะ

อนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้างตั้งอยู่ที่บริเวณชายทะเลแหลมงอบ มีอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่ากรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือที่หลายคนคุ้นหูในนามว่า “เสด็จเตี่ย” โดยอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ผันพระพักตร์ไปยังบริเวณยุทธนาวีที่เกาะช้างค่ะ ตัวพิพิธภัณฑ์เป็นทรงกลม จำลองขึ้นให้มีลักษณะคล้ายเรือรบ ทั้งรูปทรงและการจัดวางอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น ปืนใหญ่ ปืนกล

อนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้างอันประดิษฐานอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ด้านในอนุสรณ์สถานจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์และประวัติการสู้รบของกองทัพเรือไทยกับกองกำลังเรือรบของฝรั่งเศส หรือที่ชาวตราดเรียกกันว่า “ยุทธนาวีที่เกาะช้าง” ค่ะ ส่วนงานรำลึกถึงการทำยุทธนาวีมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 17-21 มกราคมของทุกปี ทั้งนี้บริเวณรอบๆ อนุสรณ์สถานยังได้จัดจำลองเรือรบและจัดเป็นสวนสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนอีกด้วยค่ะ

บริเวณรอบๆ อนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้าง

ยุทธภูมิในการรบครั้งนี้เกิดขึ้นที่บริเวณด้านใต้ของเกาะช้าง จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 และถือเป็นการรบทางทะเลครั้งเดียวในประวัติศาสตร์กองทัพเรือไทย และฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอีกด้วย

ภายในอนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้าง

ทั้งนี้ในบทความเรื่อง “การรบที่เกาะช้าง” (จากหนังสือ เมื่อธนบุรีรบ) ระบุว่า การรบครั้งนี้ควรเรียกชื่อว่า “การรบที่เกาะช้าง” เนื่องจากเป็นเพียงการรบกันระหว่างกองกำลังทางเรือส่วนน้อยของฝ่ายไทยกับกองกำลังทางเรือส่วนใหญ่ของฝ่ายฝรั่งเศสเท่านั้น ไม่ถึงขั้นรบโดยการทุ่มเทกำลังส่วนใหญ่ของทั้งสองฝ่าย และผลของสงครามไม่อาจตัดสินผลสงครามได้อย่างเด็ดขาด อีกทั้งตามปกติแล้ว จะต้องมีเรือประจัญบานเข้าร่วมรบด้วย จึงจะนับว่าการรบแบบยุทธนาวีได้ อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังนิยมเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “ยุทธนาวีเกาะช้าง” ดังในคำขวัญประจำจังหวัดตราดว่า “เมืองเกาะครึ่งร้อย พลอยแดงค่าล้ำ ระกำแสนหวาน หลังอานหมาดี ยุทธนาวีเกาะช้าง สุดทางบูรพา” ค่ะ

ภาพจำลองเกาะช้าง

อนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้างบอกเล่าถึงการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างเรือตอร์ปิโดของไทย 2 ลำกับเรือฝรั่งเศส 7 ลำ (2 ลำไม่ได้เข้ารบ) บริเวณเกาะช้าง เนื่องในกรณีพิพาทที่ไทยเรียกร้องให้ปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดนทางน้ำไทย-อินโดจีนฝรั่งเศสใหม่ และให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนฝั่งแม่น้ำโขงที่ยึดไปเมื่อเหตุการณ์ร.ศ.112 การรบครั้งนั้น ฝรั่งเศสแอบรุกล้ำเข้าน่านน้ำไทยโดยอาศัยความมืดช่วงเช้ามืดเพื่อกดดันให้ทหารฝั่งไทยที่อยู่ข้ามชายแดนถอยกลับไป ระหว่างนั้นเครื่องบินของฝรั่งเศสเข้ามาเพื่อจะทิ้งระเบิดใส่เรือไทย แต่ถูกฝ่ายไทยยิงตกด้วยปืนต่อสู้อากาศยาน

ต่อมา เรือลามอตต์ปิเกต์ซึ่งเป็นเรือบัญชาการแล่นเข้ามาในพิสัยการรบ เรือหลวงสงขลาของไทยจึงเปิดฉากยิงก่อน แต่ก็ถูกระดมยิงกลับอย่างหนักจนเรือหลวงสงขลาต้องสละเรือหลังยืนหยัดรบได้ 35 นาที ลูกเรือไทยเสียชีวิตจำนวนมาก ในเวลาเดียวกัน เรือหลวงชลบุรีสู้รบกับเรือสลุปของฝรั่งเศสที่มี 4 ลำอย่างดุเดือดเช่นกัน เรือหลวงชลบุรีถูกกระสุนจนเกิดระเบิดไฟลุกไหม้อย่างหนัก มีลูกเรือเสียชีวิตมากมาย จนต้องสละเรือหลังจากสู้รบไป 40 นาที อีกทั้งยังมีรายงานจากฝ่ายไทยภายหลังว่าฝรั่งเศสทำผิดธรรมเนียมการรบทางทะเลเนื่องจากฝรั่งเศสใช้ปืนกลกราดยิงลูกเรือไทยที่ลอยคออยู่ในทะเล

ในเวลาต่อมาเรือหลวงธนบุรีซึ่งเป็นเรือรบลำสุดท้ายของน่านน้ำไทยในเวลานั้นได้เปิดฉากสู้รบกับเรือลามอตต์ปิเกต์อย่างดุเดือด ทั้งยังมีเรือสลุปหลายลำของฝรั่งเศสเข้ามาระดมยิงด้วย กระสุนจากเรือลามอตต์ปิเกต์ทำให้ผู้บังคับการเรือ นาวาโท หลวงพร้อมวีระพันธ์เสียชีวิตพร้อมลูกเรืออีกหลายนาย ระบบสื่อสารและควบคุมเสียหายจนไม่อาจบังคับทิศทางเรือได้ ป้อมปืนไม่ทำงานจนทหารเรือไทยต้องใช้มือหมุนป้อมปืนเอง ทำให้การยิงเป็นไปอย่างยากลำบาก อีกทั้งยังถูกเครื่องบินรบฝรั่งเศสทิ้งระเบิดใส่ด้วยจนทำให้มีลูกเรือบาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้นอีก แต่ทหารเรือไทยก็ยังยิงจนสร้างความเสียหายให้แก่เรือลามอตต์ปิเกต์ได้ในที่สุด แล้วเรือหลวงธนบุรีก็แล่นเข้าเขตน้ำตื้น เรือฝรั่งเศสจึงส่งสัญญาณถอนตัวจากการรบ แต่ก็ยังยิงเรือหลวงธนบุรีอีกในภายหลังแต่พลาดเป้า จนกระทั่งเรือทั้งสองฝ่ายเคลื่อนพ้นพิสัยการรบ สงครามจึงจบสิ้นลง

จำลองสถานที่เกิดเหตุยุทธนาวีที่เกาะช้าง

ฝ่ายไทยเสียเรือรบไปทั้ง 3 ลำ แม้เรือหลวงช้างจะพยายามเข้าช่วยดับไฟให้เรือหลวงธนบุรีก็ตาม เรือหลวงช้างลากจูงเรือหลวงธนบุรีจนเข้าเขตน้ำตื้น น้ำเข้ากราบเรืออย่างหนักทั้งซ้ายขวา เรือหลวงธนบุรีจึงสละเรือและต้องปล่อยเรือจมเกยตื้นที่บริเวณแหลมงอบ ฝ่ายเรือรบฝรั่งเศสกลับไปยังไซ่ง่อน และอ้างว่าไม่มีความเสียหายใดเลย แต่ทหารเรือไทยยืนยันว่าเรือลามอตต์ปิเกต์ถูกเรือหลวงธนบุรียิงเข้าอย่างจังจนไฟลุกที่ท้ายเรือ การข่าวของไทยยังแจ้งว่าฝ่ายฝรั่งเศสขนศพทหารขึ้นบกตลอดคืน แต่เรื่องดังกล่าวไม่มีหลักฐานยืนยัน ส่วนฝ่ายไทยสูญเสียทหารหาญไป 36 นาย

หลังจากการรบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานเหรียญกล้าหาญเพื่อเชิดชูเกียรติแก่ทหารเรือที่เข้าร่วมรบในสงครามครั้งนี้ทั้งสิ้น 18 คน ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้ที่เสียชีวิต และเรือรบอีก 1 ลำ คือ เรือหลวงธนบุรี รัฐบาลยังได้จัดพิธีประดับเหรียญกล้าหาญและธงฉานแก่เรือหลวงธนบุรี พร้อมทั้งธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยทหารต่างๆ ไปจนถึงทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจสนามที่ปฏิบัติการรบดีเด่นในสงครามครั้งนี้เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2484 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า

นอกจากนี้ ทหารที่เข้าร่วมรบในกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนยังได้รับสิทธิพิเศษตามที่ราชการกำหนด ทั้งนี้ไทยยังได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้างไว้ 2 แห่ง คือ อนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรีที่โรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ และอนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้าง ที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นสถานที่ที่เรือหลวงธนบุรีถูกลากจูงมาเกยตื้นเมื่อเย็นวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 นั่นเอง สำหรับฝ่ายฝรั่งเศสก็มีการจัดทำป้ายอนุสรณ์ที่ฟอร์ต-มือเซ มงต์บาร์เรย์ (Fort-Musée Montbarrey) เมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อระลึกถึงทหารเรือสังกัดกองกำลังทางเรือฝรั่งเศสภาคตะวันออกไกล (Forces Navales d’Extrême-Orient) ที่เสียชีวิตในการรบครั้งนี้ และจัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีแห่งการยุทธนาวีที่เกาะช้างเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2544

ก่อนจะไปยังสถานที่ต่อไป ฉันกับพ่อจึงถ่ายรูปเป็นที่ระลึกบริเวณด้านหน้าอนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้างค่ะ

ด้านหน้าอนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้าง

สถานที่ต่อไปที่เราจะแวะเยี่ยมชมและสักการะคือ พระตำหนักหรือศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระองค์ถือเป็น “องค์บิดาแห่งราชนาวีไทย” หรือ “องค์บิดาของทหารเรือไทย” ดังนั้นจังหวัดใดที่อยู่ติดทะเลหรือน่านน้ำจึงมักมีการจัดสร้างศาลหรืออนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน ซึ่งรวมแล้วมีกว่า 200 แห่งทั่วประเทศไทย เช่น โรงพยาบาลจังหวัดชุมพร โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดชลบุรี แต่ในวันนี้เรามาศาลของพระองค์ท่านที่บ้านแหลมศอก ต.อ่าวใหญ่ อ.เมือง จ.ตราดกันค่ะ โดยศาลนี้ตั้งอยู่ตรงแยกทางไปสะพานท่าเรือบ้านแหลมศอก ซึ่งมีบริการรับส่งนักท่องเที่ยวไปเกาะช้างด้วยค่ะ

พระพุทธรูปและพระบรมรูปกรมหลวงกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์งามอร่าม

ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์สร้างขึ้นโดยพระครูสถาพร พุทธมนต์ บุตรของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และได้ดำเนินการสร้างในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2524 โดยความร่วมใจของชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธามากมาย และภายหลังยังได้มีการบูรณะศาลฯ ขึ้นใหม่ในปี 2550 ด้วยค่ะ

ภายในศาลมีประวัติของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รวมถึงประวัติการสร้างศาลแห่งนี้ แต่ส่วนที่โดดเด่นสะดุดตาคือตรงกลางห้องที่มีพระพุทธรูปหลายองค์ ไปจนถึงพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช ซึ่งล้วนเป็นสีทองงามอร่ามตาค่ะ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการเดินเรือเป็นอย่างยิ่ง โดยในปี 2462 พระองค์ทรงเป็นผู้บังคับเรือหลวงพระร่วงจากประเทศอังกฤษเข้ามายังกรุงเทพฯ นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ชาวไทยที่มีผู้เดินเรือได้ไกลข้ามทวีป นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่ทำให้มีการก่อตั้งโรงเรียนนายเรือเมื่อปี 2449 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

พระพุทธรูปและพระบรมรูปกรมหลวงกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์งามอร่าม

พระองค์ไม่เพียงมีพระปรีชาสามารถด้านการเดินเรือเท่านั้น แต่ยังทรงชำนาญด้านการแพทย์แผนโบราณ พระองค์จึงเรียกพระองค์เองว่า “หมอพร” พระองค์ทรงเป็นแพทย์ฝีมือดี ทั้งยังทรงรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชนอย่างไม่ถือพระองค์ อีกทั้งทรงไม่เก็บค่ารักษาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธากรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์จึงนิยมมาสักการะขอพรพระองค์ในเรื่องการสอบเข้าโรงเรียนทหารเรือและขอให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บค่ะ

หลังจากสักการะกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และเสี่ยงเซียมซีทำนายดวงชะตาแล้ว เราก็บุกตะลุยสถานที่ต่อไปที่อยู่มาใกล้ไม่ไกลกันอย่างสะพานท่าเรือค่ะ หลายคนคงสงสัยว่าสะพานมีอะไรน่าสนใจ แต่ขอบอกเลยว่าที่นี่นอกจากจะมีรถ-เรือรับส่งผู้โดยสารไปเที่ยวเกาะแล้ว ยังมีกิจกรรมที่เหมาะกับครอบครัวด้วยค่ะ

เรือรับ-ส่งนักท่องเที่ยวไปยังเกาะ

สะพานท่าเรือบ้านแหลมศอกทอดตรงยาวสู่ทะเล ไกลสุดสายตาเลยค่ะ

สะพานท่าเรือ

โดยตลอดทั้งสองด้านจะมีคันเบ็ดตกปลาตั้งมัดกับเสาเรียงราย และชาวบ้านแถบนี้มักจะพากันมาตกปลาทั้งครอบครัวค่ะ โดยเขาจะนำคันเบ็ดไปมัดไว้กับเสา แล้วคอยสังเกตสายเอ็นเบ็ด เมื่อสายเอ็นตึงก็เป็นสัญญาณว่าปลาฮุบเหยื่อแล้วค่ะ

เสาที่มีคันเบ็ดเสียบอยู่

นอกจากนี้ ผู้คนยังนิยมมานั่งเล่นกินลมชมวิวที่อาคารพักผู้โดยสารค่ะ เนื่องจากลมเย็นสบาย มีที่นั่งสะดวกเรียบร้อย ทั้งยังมองเห็นเกาะช้าง เกาะสำคัญของจังหวัดตราดอีกด้วยค่ะที่นั่งชมวิวริมทะเล

เกาะช้างและหมู่เกาะช้างจัดเป็นอุทยานแห่งชาติ มีเนื้อที่มากถึง 650 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะมากถึง 52 เกาะ เกาะช้างเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทยรองจากเกาะภูเก็ต เฉพาะตัวเกาะมีเนื้อที่ประมาณ 429 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ของเกาะช้างเป็นเขาสูง มีผาหินสลับซับซ้อน ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขาอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของลำธาร ทำให้เกาะช้างมีน้ำตกหลายแห่ง ทั้งยังมี “แดนสวรรค์” หรือปะการังอันงดงามอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถดำน้ำตื้นชมปะการังได้ ส่วนช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวของเกาะช้างคือ เดือนตุลาคม – พฤษภาคมค่ะ

มองไปเห็นทะเลและเกาะช้าง

เราเดินเล่นรับลมชมวิวกันอย่างเต็มอิ่มจนใกล้เวลาเย็นจึงคิดว่าได้เวลาแวะเติมพลังให้กระเพาะกันก่อนกลับกรุงเทพฯ เรามาที่ “ครัวลุงตี๋” ร้านนี้การันตีโดยคนพื้นที่ซึ่งมักจะพาคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ มาทาน และทุกคนต้องยกนิ้วให้! เราใช้เส้นทางที่มุ่งไป อ.คลองใหญ่ และเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกไฟแดงตามป้ายบ้านแหลมศอก ตรงไปเรื่อยๆ เพื่อไปบ้านแหลมเทียน ต.อ่าวใหญ่ ตรงไปตามทางเข้า รร.อ่าวใหญ่พิทยาคาร เลี้ยวซ้ายเข้าซอยประมาณ 2 กม. จะพบป้ายบอกทางเข้าร้าน เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 400 ม. ร้านอยู่ริมทะเลเลยค่ะ ทั้งนี้เส้นทางและป้ายอาจจะดูยากนิดหน่อย และร้านอาจจะดูเหมือน “บ้าน” มากกว่าร้านอาหาร แต่รับประกันความอร่อยว่ามาแล้วคุ้มค่าแน่นอนค่ะ เพราะที่นี่ใช้อาหารทะเลที่ขนขึ้นจากเรือส่งตรงเทียบท่าหน้าร้านกันเลยค่ะ ทั้งยังขายอาหารทะเลปลีก-ส่งราคาไม่แพงอีกด้วย แถมพิเศษสุดๆ ตรงที่ใครไม่สะดวกมาซื้อถึงที่ร้าน จะโทรหาลุงตี๋แล้วนัดซื้อขายกันในตัวเมืองก็ได้ค่ะ

วิวจากด้านบนของร้านครัวลุงตี๋

โชคดีที่เรามาถึงยังไม่เย็นนักค่ะ ร้านจึงยังไม่ค่อยมีคน ว่าแล้วก็ขอเมนูมาเลย!

บรรยากาศภายในร้าน

ประเดิมจานแรกด้วยต้มยำน้ำใสกุ้ง+หมึกค่ะ พริกขี้หนูสีเขียวสดบดเป็นเม็ดๆ ลอยผิวน้ำแกง รวมพลังตะไคร้ และข่าอ่อนหวานกรุบ นอกจากกุ้งกับหมึกจะหวานสดแล้ว คงไม่ต้องพรรณนาว่ารสชาติแซ่บถึงทรวงแค่ไหนค่ะ

ต้มยำกุ้งหมึกน้ำใส

 

กุ้งสดตัวใหญ่ทีเดียว

จานต่อมา กุ้งทอดกระเทียม กุ้งตัวใหญ่ราดกระเทียมแบบจัดเต็ม รสเค็มหวานกำลังดีจนไม่ต้องพึ่งซอสให้เสียอรรถรส แถมกุ้งยังกรุบกรอบจนเคี้ยวได้ทั้งเปลือก! อเมซซิ่งจริงๆ

กุ้งทอดกระเทียม

ส่วน ปลาพล่า ก็เป็นอีกจานเด็ดพลาดไม่ได้ ด้วยสูตรน้ำจิ้มเอกลักษณ์แท้แบบชาวตราด น้ำข้น ให้รสหวานจากขนมถั่วตัด (ถั่วลิสงกวนกับน้ำตาลจนได้เป็นแผ่น) นำมาตำแล้วปรุงรสกับน้ำปลา ผสานรสเปรี้ยวนิดเผ็ดหน่อยจากมะนาวและพริกอร่อยเหาะ

น้ำจิ้มปลาพล่าอันเป็นเอกลักษณ์

ยิ่งนำน้ำจิ้มมาราดบนเนื้อปลา เช่น ปลาสาก หรือปลาอินทรีที่แช่น้ำส้มสายชูหรือมะนาว แล้วนำมาพล่าหรือทำให้สุกด้วยการบีบมะนาว แล้วคลุกเคล้ากับสารพัดสมุนไพร เช่น ตะไคร้ กะหล่ำหั่นฝอย ฯลฯ ยิ่งอร่อยจนหยุดไม่อยู่ แถมให้ความรู้สึกเบาสบายท้องแบบไม่ต้องกลัวอ้วนอีกด้วย

ปลาพล่า

ตบท้ายด้วยอาหารรสเผ็ดไม่เกรงใจใคร หอยเชลล์ผัดฉ่า เนื้อหอยอ้วนสดราดด้วยสารพัดเครื่องเทศเผ็ดร้อน เช่น กระชาย พริกไทย แซ่บซี้ดจนต้องร้องขอน้ำแข็งโดยด่วน

หอยเชลล์ผัดฉ่า

พอสั่งเช็กบิลถึงกับต้องตาโต เพราะราคาเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์มากค่ะ เนื่องจากเขาคิดราคาตามน้ำหนักทุกเมนู ได้แก่ ต้มยำน้ำใสกุ้งหมึก ใส่กุ้ง 3 ขีด คิดเป็น 105 บาท และใส่หมึก 3 ขีด คิดเป็น 81 บาท ส่วนกุ้งทอดกระเทียม ใช้กุ้งไซส์ใหญ่กว่า ใส่กุ้ง 5 ขีด คิดเป็น 200 บาท ปลาพล่า 150 บาท และหอยเชลล์ผัดฉ่า ใส่หอยเชลล์ 3 ขีด คิดเป็น 54 บาท ส่วนค่าปรุงรวมทุกเมนูแล้วคิดราคา 150 บาทค่ะ ซึ่งเมื่อรวมทุกเมนู+ข้าวเปล่า+น้ำแข็ง+น้ำอัดลมก็ราคาเพียง 915 บาทค่ะ

ที่นี่เรายังสามารถพักผ่อนหย่อนใจด้วยการเลาะเลียบร้านไปเดินเล่นชายฝั่งได้ด้วยค่ะ โดยทางร้านจะมีสะพานไม้ค่อนข้างเก่าแก่ให้เดินไป ซึ่งสำหรับคนพื้นที่ก็จะเดินกันอย่างคล่องแคล่วมากค่ะ

สะพานไม้ทอดไปสู่ชายทะเล

ชาวบ้านบริเวณนี้มีอาชีพหลักคือเป็นชาวประมงค่ะ เราจะเห็นบ้านเรือนซึ่งเป็นไม้ที่ประกอบขึ้นอย่างง่ายๆ และวิถีชีวิตของชาวประมงที่ดูเรียบง่าย ไม่ค่อยมีข้าวของเครื่องใช้มากนักค่ะ

บ้านเรือนชาวประมง

ข้าวของเครื่องใช้ถูกแขวนไว้ตามฝาบ้านอย่างง่ายๆ

เมื่อลากเรือขึ้นฝั่งในยามเย็น ชาวประมงก็มักนั่งจิบเบียร์พักผ่อนที่ชานบ้านค่ะ ส่วนทางร้านอาหารก็จะรับซื้อของทะเลสดๆ กับชาวประมงโดยตรงค่ะ

เรือประมงจอดริมฝั่ง

หน้าบ้านชาวประมง

บรรยากาศยามเย็นริมทะเลชิลล์มากค่ะ แต่น้ำขึ้นค่อนข้างเร็วค่ะ ต้องใช้ความระมัดระวังกันด้วยนะคะ

ชมทะเลจากริมฝั่ง

ทะเลยามเย็น

ดวงอาทิตย์ยามเย็นที่ลอยเด่นอยู่เหนือท้องทะเลกำลังลาลับขอบฟ้า เราดื่มด่ำบรรยากาศเนิบช้าของชนบทอย่างเต็มอิ่ม ขณะเดียวกันมันก็เป็นสัญญาณว่าได้เวลากลับไปสู่โลกความเป็นจริงแล้วค่ะ เรามุ่งหน้ากลับกรุงเทพฯ ด้วยใจเบิกบาน และเตรียมพร้อมแล้วกับการทำงานในวันต่อไป ^_^

หญิงร้ายฯ

ข้อมูลอ้างอิง

http://www.trat.go.th/newweb/

https://th.wikipedia.org/wiki/ยุทธนาวีเกาะช้าง

http://irrigation.rid.go.th/rid14/const2/omd14/Datebooks/19%20May/19%20May.htm

http://www.kohchangebooking.com/kohchang.html

Published in รีวิวจากนักท่องเที่ยว, รีวิวร้านอาหาร

แสดงความคิดเห็น

comments

ทิ้งคำตอบไว้