หน้าแรก รีวิวจากนักท่องเที่ยว แวะพักใจที่เข...

แวะพักใจที่เขาใหญ่

เที่ยวเขาใหญ่

วันหยุดช่วงเดือนมกราคมที่อากาศกำลังเย็นสบายแบบนี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการขึ้นเขา สูดเอาอากาศบริสุทธิ์ให้ชุ่มปอดเพื่อชาร์จแบตให้พร้อมกลับมาทำงานอีกครั้ง ฉันกับเพื่อนตกลงใจกันว่าจะไป “เขาใหญ่” กันค่ะ เราออกเดินทางด้วยรถจีปคู่ใจจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ยังไม่เช้ามืด อากาศเย็นสบายและรถไม่ติด ไปตามเส้นทางวิภาวดี-รังสิต สระบุรี และไปที่ถึงจุดหมายปลายทาง (ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง) ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

รุ่งอรุณที่เขาใหญ่

ถนนภายในเขาใหญ่

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นนับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ได้รับสมญานามว่าเป็นอุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงเป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่สำคัญของโลกด้วยค่ะ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่ป่าไม้ถึงประมาณร้อยละ 91 และครอบคลุมพื้นที่หลายตำบลของจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี นครราชสีมา และสระบุรี

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ประกอบด้วยป่าไม้และพืชพรรณนานา ได้แก่ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ รวมไปถึงทุ่งหญ้าและป่ารุ่นสองค่ะ

ทุ่งหญ้าสีแดง

ทุ่งหญ้า

นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีสัตว์อาศัยอยู่นานาประเภท ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบมากถึง 71 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์ปีกจำพวกนก ส่วนสัตว์ป่าที่พบเห็นได้บ่อย เช่น ช้างป่า เก้ง กวาง ลิง

ลักษณะภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนกัน ได้แก่ เขาร่ม รองลงมาได้แก่ เขาแหลม เขาเขียว เขาสามยอด และเขาฟ้าผ่า ด้านทิศเหนือและตะวันออกพื้นที่จะลาดลง ส่วนทิศใต้และตะวันตกเป็นที่สูงชันอันเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำปราจีน และแม่น้ำนครนายก ซึ่งบรรจบกันเป็นแม่น้ำบางปะกง มีความสำคัญต่อเกษตรกรรม เศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้ค่ะ ส่วนต่อมาคือ ลำตะคอง และลำพระเพลิง ไหลไปบรรจบกันเป็นแม่น้ำบางปะกงเช่นกัน มีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของที่ราบสูงโคราช สุดท้ายคือ ห้วยมวกเหล็กที่ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักที่อำเภอมวกเหล็ก มีประโยชน์ด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปศุสัตว์ของภูมิภาคนี้ค่ะ

เทือกเขายามเช้าที่มีหมอกลง

ด้านภูมิอากาศ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 23 องศาเซลเซียส ส่วนฤดูหนาวมีอุณหภูมิประมาณ 17 องศาเซลเซียส อากาศจึงเย็นสบายตลอดปี เหมาะแก่การท่องเที่ยวและประกอบกิจกรรมสันทนาการเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นอย่างดีค่ะ

ระหว่างทางที่เราเข้าไปในอุทยานฯ นั้น เราเห็นลิง ขี้ช้าง (ตื่นเต้นมากค่ะ เพราะช้างป่าถือเป็นไฮไลต์ของที่นี่ และเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนักค่ะ ขี้ช้างจึงเป็นสัญลักษณ์ว่าเราอาจโชคดีได้เห็นช้างค่ะ)

ขี้ช้าง

อย่างไรก็ตามสัตว์ที่พบมากที่สุดคือกวางค่ะ เราเห็นกวางหลายตัวเล็มต้นไม้ใบหญ้าข้างทางอย่างไม่กลัวรถเลยค่ะ แต่หากจะจอดรถถ่ายรูปก็ต้องระวังรถที่ตามมาด้วยนะคะ

กวางน้อยเล็มหญ้าข้างทาง

เมื่อขับรถตรงไปเรื่อย ๆ ก็จะผ่านทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ทั้งสองข้างทาง ซึ่งเป็นผลมาจากการทำไร่เลื่อนลอยในอดีตก่อนที่จะมีประกาศว่าเป็นพื้นที่อุทยานฯ ค่ะ และเนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้ง ทำให้ทุ่งหญ้ามีสีเหลืองทองอร่ามกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ดูสวยงามไปอีกแบบค่ะ จากนั้น เราก็ผ่านอ่างอาบน้ำสายศรค่ะ อ่างเก็บน้ำสายศรเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคภายในอุทยานฯ และเป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่า ดำเนินการสร้างโดยนายบุญเรือง สายศร หัวหน้าอุทยานฯ คนแรกเมื่อพ.ศ. 2524 ซึ่งแต่เดิมเรียกกันว่าอ่างเก็บน้ำมอสิงโต เนื่องจากอ่างเก็บน้ำมีรูปร่างคล้ายกับสิงโต จากนั้นในพ.ศ. 2550 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นอ่างเก็บน้ำสายศรเพื่อเป็นเกียรติแก่นายบุญเรือง สายศร อ่างเก็บน้ำแห่งนี้สวยงามมากค่ะ น้ำใสจนเห็นเงาสะท้อนของต้นไม้ใบหญ้าที่ราวกับอยู่ในอีกมิติหนึ่ง อ่างเก็บน้ำสายศรจึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่มาถ่ายรูปกันมากมายค่ะ

ด้วยความที่เราตัดสินใจมาอย่างฉุกละหุก อีกทั้งยังเป็นวันอาทิตย์ จึงทำให้ห้องพักของอุทยานฯ เต็ม เราได้รับคำแนะนำให้ไปเช่าเต๊นท์ค่ะ ที่นี่มีจุดกางเต๊นท์อยู่ 2 แห่ง คือ จุดกางเต๊นท์ลำตะคอง และจุดกางเต๊นท์ผากล้วยไม้ ซึ่งมีข้อดีแตกต่างกันคือ จุดกางเต๊นท์ลำตะคองจะอยู่ใกล้ศูนย์บริการมากกว่า แต่หากอยากสัมผัสกับลมหนาวอย่างสะใจกว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ แนะนำให้ไปที่จุดกางเต๊นท์ผากล้วยไม้ เราเห็นดีด้วยแต่ก็พบว่ามีคนหนาแน่นทั้ง 2 จุดจนไม่รู้จะกางเต๊นท์ตรงไหน ถือเป็นบทเรียนสอนใจของการมาท่องเที่ยวอย่างไม่ได้วางแผนและการมาท่องเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์ได้เป็นอย่างดีค่ะ (เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เล่าว่าวันเสาร์คนจะยิ่งเยอะมากเป็นพิเศษ)

เราเลือกไปเที่ยวชม “น้ำตกเหวสุวัต” เป็นที่แรก เนื่องจากเจ้าหน้าที่อุทยานบอกว่าเป็นน้ำตกที่สวยที่สุดในอุทยานฯ แต่ทางอุทยานฯ ประกาศห้ามลงเล่นน้ำเนื่องจากเกรงอันตรายจากน้ำป่าไหลหลาก อีกทั้งน้ำยังมีความลึกและเย็นมากจากการสืบค้นข้อมูลทำให้หราบว่า น้ำตกเหวสุวัตเป็นน้ำตกที่เกิดจากห้วยลำตะคองไหลตกผ่านหน้าผาสูงราว 25 ม. มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของน้ำตกเหวสุวัต (ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด) ว่าชื่อน้ำตกเหวสุวัตนี้เกิดจากมีโจรชื่อสุวัต หนีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาจนมุมยังน้ำตกแห่งนี้ จึงตัดสินใจกระโดดลงมายังแอ่งน้ำเบื้องล่างเสียชีวิต ทั้งนี้ หากผ่านน้ำตกเหวสุวัตแล้ว ยังมีน้ำตกเหวไทรและน้ำตกเหวประทุนที่อยู่ลึกเข้าไป แต่จะต้องเดินผ่านป่าลึกฝ่าดงทาก ควรมีเจ้าหน้าที่นำทางไปด้วยเนื่องจากเส้นทางไม่ชัดเจน อาจพลัดหลงได้ง่าย

แอ่งน้ำระหว่างทางไปน้ำตกเหวสุวัต

ป่า-ทางเดินไปน้ำตกเหวสุวัต

ระยะทางที่เราต้องเดินไปน้ำตกไกลเอาเรื่องค่ะ คือ 3.8 กม. จากจุดกางเต๊นท์ผากล้วยไม้ ช่วงนี้น้ำค่อนข้างแล้ง เราจึงเดินลัดเลาะไปตามน้ำตกได้ง่าย แต่เมื่อเดินไปเรื่อยๆ ก็จะพบแอ่งน้ำตกเป็นระยะๆ เราจึงต้องเปลี่ยนไปเดินตามเส้นทางในป่า ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้นานาพรรณทั้งใหญ่น้อย บรรดานกและแมลงส่งเสียงร้องกันระงม กระรอกวิ่งไต่ไล่กันไปมาตามเถาวัลย์และกิ่งไม้ สอดรับกับเส้นทางบางส่วนในป่าที่คดเคี้ยวและต้นไม้หนาทึบ มีรากไม้คั่นเป็นเสมือนบันไดธรรมชาติ อากาศยังคงเย็นสบายทั้งที่เป็นเวลาเที่ยงกว่าแล้ว ทำให้เดินได้เรื่อยๆ ไม่เหนื่อยนักค่ะ

น้ำตกระหว่างทาง

แมกไม้นานาให้ความร่มเย็น

เราเดินไปเรื่อยๆ และสังเกตเห็นว่าแอ่งน้ำเริ่มมากขึ้นแล้วจนกระทั่งเห็นป้าย “ระวังจระเข้” ทำให้เราถึงกับสะดุ้งอยู่เหมือนกัน ขณะเดียวกันก็เดินด้วยความระมัดระวังมากขึ้น แต่เพียงมากี่ก้าวหลังจากที่เราเห็นป้าย เราก็เห็นศัตรูไกรทองตัวเบ้อเริ่มนอนอาบแดดอย่างสบายใจอยู่ฝั่งตรงข้าม

จระเข้นอนอาบแดดสบายใจ

เมื่อหยุดดูจระเข้จนเต็มอิ่ม เราก็ออกเดินต่อไปเรื่อยๆ ระยะทางค่อนข้างไกล เราเดินไปจนกระทั่งพบขอนไม้อันใหญ่พาดไปฝั่งตรงข้าม ใต้ขอนไม้คือทางน้ำตกที่ค่อนข้างแห้งขอด มีเชือกโยงให้เดินจับข้ามไป เราลองข้ามขอนไม้นั้นไปและพบป้ายชี้ไปน้ำตกเหวสุวัตและผากล้วยไม้ เราไปตามเส้นทางอยู่สักพักแต่ก็ไม่พบ อีกทั้งเส้นทางยังเล็กแคบและจางหายลงเรื่อยๆ พาเราเข้าไปในป่าลึกขึ้นๆ จนกระทั่งพบกิ่งไม้แห้งกองใหญ่สุมวางขวางทางอยู่ เราจึงคิดว่าน่าจะมาผิดทางจึงย้อนกลับไปทางเดิม และเมื่อเราข้ามขอนไม้กลับมา เวลาก็ล่วงเลยไปเกือบบ่ายสามโมงแล้ว

ขอนไม้สำหรับข้ามฟาก

เราจึงตัดสินใจเดินกลับทางเดิมเพราะเกรงว่าฤดูหนาว ท้องฟ้าจะมืดเร็วกว่าปกติ ประกอบกับแทบไม่มีคนเดินเข้าป่าเลยยกเว้นชาวต่างชาติเพียงไม่กี่คน เมื่อเราเดินย้อนกลับไปเรื่อยๆ ก็พบว่าจระเข้ยังคงนอนอยู่ที่เดิม มีชาวต่างชาติกำลังถ่ายรูปมันอยู่ด้วยความตื่นเต้น (ทราบในภายหลังจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ว่ามีจระเข้ 2 ตัว และจระเข้ตัวหนึ่งนอนตรงนั้นเป็นประจำนับสิบปีแล้ว จึงต้องติดป้ายเตือน)

จระเข้ยังคงนอนอยู่ที่เดิม

เราเดินกลับกันมาสักพักใหญ่จนใกล้ถึงจุดเริ่มต้น แล้วจึงเดินเลาะไปทางน้ำที่แห้งขอดสลับกับมีน้ำเป็นระยะๆ แล้วเราก็พบ “ดงผีเสื้อ” ที่มีผีเสื้อน้อยใหญ่หลากสีบินว่อนคล้ายกำลังเริงระบำ เมื่อเราเข้าไปใกล้ๆ ด้วยความระมัดระวังก็เห็นว่าที่หลุมทรายบริเวณโขดหินมีผีเสื้อตัวน้อยๆ สีเหลืองและสีขาวขอบน้ำตาลเกาะพื้นทรายเต็มไปหมด ผีเสื้อสีเหลืองนี้คือผีเสื้อเณร เป็นผีเสื้อขนาดเล็กที่พบได้ตามป่าโปร่ง ส่วนผีเสื้อสีขาวขอบน้ำตาลคือ ผีเสื้อหนอนคูนธรรมดาที่พบได้ตามป่าหรือชุมชน ที่เราเห็นมันเกาะพื้นทรายอยู่นี้ มันกำลังดูดกินน้ำและแร่ธาตุจากทรายชื้นค่ะ เราไม่อยากรบกวนพวกมันอีกจึงเดินเลี่ยงลัดเลาะแอ่งน้ำและโขดหินมาจนถึงจุดเริ่มต้น

ผีเสื้อนานาชนิด

เมื่อเราออกมาจากป่าก็เกือบเย็นแล้ว เราเจอเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ท่านหนึ่งและมีโอกาสได้คุยกันก็ทราบว่าทางเดินไปน้ำตกเหวสุวัตนั้นเราต้องเลี้ยวออกไปไม่ใช่เดินเข้าไปในป่า เรากลับมาพักที่จุดกางเต๊นท์ก็พบว่าผู้คนมากมายที่จับจองกางเต๊นท์เมื่อเช้าอันตรธานหายไปเกือบหมด (อาจเป็นเพราะเป็นช่วงเย็นวันอาทิตย์แล้ว) ที่อุทยานฯ มีเต๊นท์ให้เช่า 2 แบบ คือแบบนอนได้ 1-2 คน และแบบนอนได้ 3-4 คน พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น หมอน ผ้าห่ม เตาถ่านและตะแกรงสำหรับปิ้งย่าง (ยกเว้นไฟฉายที่เราต้องเตรียมมาเอง) แต่เรามากันอย่างไม่ได้เตรียมตัว จึงไม่มีไฟฉายและต้องกางเต๊นท์แข่งอย่างทุลักทุเลกับความมืดที่กำลังโรยตัวมาอย่างรวดเร็ว เมื่อเรากางเต๊นท์เสร็จก็มืดพอดี

เราต้องรับประทานอาหารเย็นที่ซื้อมาเตรียมไว้ท่ามกลางความมืด แล้วไปที่จุดบริการของอุทยานฯ เพื่อจะไป “ส่องสัตว์” ที่ทางอุทยานฯ มีไว้บริการทุกวัน วันละ 2 รอบคือ 19.00 น. กับ 20.00 น. ค่ารถส่องสัตว์คันละ 500 บาท รถส่องสัตว์เป็นรถกระบะติดราวกั้นและที่นั่งสองฟาก มีผู้ขับ และผู้ส่องไฟพร้อมบรรยาย และให้นั่งได้ไม่เกิน 10 คน เมื่อเราไปถึงก็เป็นเวลาเกือบสองทุ่มพอดี ป้ายอุณหภูมิที่จุดบริการอุทยานฯ บอกอุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียส เราหารค่ารถกับคู่หนุ่มสาวสองคนที่มาพร้อมเราพอดี ทำให้มีเพื่อนร่วมคุยกันไปตลอดทาง เพราะมิตรภาพระหว่างการเดินทางเกิดขึ้นได้เสมอค่ะ

ระหว่างที่รถแล่นไป เจ้าหน้าที่ก็ส่องไฟแล้วบรรยายไปเรื่อยๆ สัตว์ที่เจอส่วนใหญ่มักจะเป็นกวางซึ่งเห็นมาตลอดตั้งแต่เข้าเขาใหญ่ค่ะ

กวางออกหากินเวลากลางคืน

นอกจากกวางแล้วยังมีนกกระแตแต้แว้ด นกตบยุง แม้แต่เม่นค่ะ พวกเรานั่งกันไปพลางคุยกันว่าอยากเห็นช้างป่ามาก เจ้าหน้าที่ก็บอกว่ามีโอกาสค่ะ เพราะช้างป่าจะออกหากินเวลากลางคืน อากาศก็หนาวเย็นลงเรื่อยๆ สักพักใหญ่ก็เห็นรถส่องสัตว์คันหน้าหยุดและช่วยกันส่องไฟ เลยเห็นว่ามีช้างโขลงหนึ่งเล่นดินโป่งข้างถนน ซึ่งเป็นดินที่ทางอุทยานฯ จัดทำไว้  (ดินโป่งเป็นดินที่มีแร่ธาตุสูง เป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสัตว์ค่ะ) ช้างโขลงนี้เป็นช้างครอบครัวใหญ่มีเกือบสิบตัวค่ะ ช้างคงจะรำคาญรถจึงข้ามถนนเพื่อจะเข้าป่าไป แต่มีอยู่ตัวหนึ่งท่าทางเป็นช้างวัยรุ่นขี้โมโหกำลังเล่นดินอย่างเพลิดเพลินก็ทำท่าไม่พอใจที่โขลงเดินกลับ เลยกระทืบเท้าแล้วร้อง แปร๊น! เสียงดังมากค่ะ ทั้งยังเอางวงตวัดดินกระจายไปทั่ว ทุกคนบนรถลุ้นกันตัวโก่งค่ะว่าช้างตัวนี้จะอาละวาดมากกว่านี้หรือไม่

ปรากฏว่าไม่กี่นาทีต่อมา มีรถยนต์คันหนึ่งขับแซงรถคันอื่นขึ้นไปจนประจันหน้ากับช้าง รถคันนั้นจอดนิ่งอยู่ครู่หนึ่งจึงรีบขับหนีไป เจ้าหน้าที่บอกว่ารถคันนี้ทำถูกแล้ว หากเจอช้างป่าที่เขาใหญ่แล้วสบโอกาสให้รีบเร่งเครื่องไป หลังจากรอกันอยู่พักใหญ่ ในที่สุด ช้างขี้โมโหตัวนี้ก็ยอมข้ามถนนไปหาโขลง เล่นดินด้วยกันและเข้าป่าไปท่ามกลางความโล่งอกของทุกคนค่ะ

ลูกช้างป่าเดินกลับโขลง

โขลงช้างเล่นดินกันอย่างสนุกสนาน

จากนั้นอีกไม่นาน พวกเราก็กลับเข้าสู่จุดบริการค่ะ เราอ่านอุณหภูมิที่ป้ายลดเหลือเพียง 18 องศาเซลเซียส ฉันและเพื่อนกลับไปที่เต๊นท์ อากาศหนาวเย็นขึ้นจนเราต้องผิงไฟจากเตา เจ้าหน้าที่ทหารประจำจุดกางเต๊นท์บอกเราว่าคืนก่อนอากาศลดเหลือเพียง 14 องศาเซลเซียส เราปูเสื่อนอนดูดาวซึ่งไม่เคยเห็นที่กรุงเทพฯ มาก่อน ดาวสุกสกาวพร่างพราวเต็มท้องฟ้าสวยงามจริงๆ ค่ะ แล้วเราก็อาบน้ำ (น้ำเย็นราวกับน้ำแข็งเลยค่ะ) เข้านอนในเต๊นท์ อากาศที่เย็นสบายน่านอนประกอบกับความเหนื่อยจากการผจญภัยทำให้เราหลับไปอย่างรวดเร็วค่ะ

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น เราตื่นเพราะได้ยินเสียงน้ำค้างหยดเปาะแปะ อากาศยามเช้าสดชื่นมากค่ะ เราสูดอากาศจนฉ่ำปอด รับประทานอาหารที่ร้านอาหารของอุทยาน ราคาจานละ 40-50 บาท อาหารอร่อยทีเดียวค่ะ บริเวณรอบๆ ร้านอาหารมีทั้งลิงที่ไต่ต้นไม้ไปมา และกวางที่เดินนวยนาดในสนามหญ้า นักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจถ่ายรูปกันมาก ระหว่างที่เรารับประทานอาหารจึงได้พูดคุยกับสามีภรรยาชาวต่างชาติคู่หนึ่งที่ปั่นจักรยานท่องเที่ยวรอบโลก ทั้งคู่บอกเคล็ดลับการปั่นจักรยานว่าให้เสิร์ชเส้นทางในกูเกิ้ลและเลือกทางเท้าหรือทางคนเดินเพราะจะได้ไม่เสี่ยงอันตรายบนท้องถนน และได้เส้นทางที่หลากหลายกว่าค่ะ

ทั้งสองยังให้เราดูรูปในกล้องดิจิทัลซึ่งทำให้เราทั้งตื่นตะลึงและอิจฉาค่ะ เพราะรูปและวิดีโอที่เห็นคือ ช้างป่ากำลังเดินมาใกล้พร้อมหักใบไม้กินไปด้วย นากหลายตัวกำลังเล่นกันที่น้ำตกเหวสุวัต (ที่เราไปไม่ถูกทางค่ะ เศร้าจัง) จระเข้ และที่ประหลาดใจที่สุดคือภาพนกเงือกบนยอดไม้ค่ะ เราถามทั้งคู่ว่ารู้ได้อย่างไรว่านกเงือกอยู่ที่นั่น ทั้งคู่ตอบว่ารู้จากการไปเที่ยวที่แอฟริกา ทำให้เราเรียนรู้ว่าถ้าเตรียมตัวหาความรู้และข้อมูลก่อนมาเที่ยวก็อาจทำให้ได้รับประสบการณ์ที่มากขึ้นค่ะ

ทางเดินไปน้ำตกผากล้วยไม้

เราเดินไปจนกระทั่งถึงน้ำตกผากล้วยไม้ (มีป้ายชื่อติดชัดเจนที่น้ำตกเลยค่ะ) น้ำตกผากล้วยไม้เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีโขดหินเป็นส่วนใหญ่และน้ำน้อยค่ะอาจเป็นเพราะช่วงน้ำแล้งด้วย บริเวณรอบน้ำตกมีต้นไม้ที่มีกล้วยไม้พันรายล้อม แต่เราเห็นกล้วยไม้เพียงไม่กี่ต้นเองค่ะ เนื่องจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ บอกเราก่อนแล้วว่ากล้วยไม้ส่วนใหญ่จะออกดอกช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน

เราเดินย้อนกลับไปเล็กน้อยค่ะ เพราะเห็นว่าก่อนถึงตัวน้ำตกมีที่นั่งสบายกว่า เราปีนป่ายหินขนาดมหึมา (ซึ่งน่าจะเป็นน้ำตกค่ะ แต่อยู่ในช่วงน้ำแล้ง) เมื่อขึ้นไปยังหินก้อนใหญ่แล้วมองตรงไปจะเห็นป่าผืนใหญ่มาก ต้นไม้เขียวขจี แต่ถ้ามองลงไปจะเห็นต้นไม้และลำธาร ดูงดงามและยิ่งใหญ่มากค่ะ

ทิวทัศน์จากหน้าผาสูง

แล้วเราก็กลับมานั่งแช่เท้าเล่นที่น้ำตกค่ะ ไม่ได้ลงเล่นน้ำเพราะทางอุทยานฯ ไม่อนุญาตค่ะเพราะน้ำเย็นมาก อาจเป็นตะคริวได้ง่ายค่ะ เรานั่งพักผ่อนหย่อนใจชื่นชมธรรมชาติจนอิ่มหนำแล้วจึงออกจากน้ำตกค่ะ

จากนั้นเราก็ตกลงกันว่าจะไปจุดชมวิวที่ “ผาเดียวดาย” กันค่ะ เส้นทางแยกจากไปผาเดียวดายมีน้ำตกเหวนรกด้วยค่ะ แต่เราต้องกลับกรุงเทพฯ วันนี้ จึงไม่ได้แวะไปค่ะ น่าเสียดายมาก เส้นทางขึ้นเขาค่อนข้างจะลดเลี้ยวเคี้ยวคด ทางชัน และมีโค้งหักศอก รวมถึงป้ายเตือนให้ระวังหินถล่มอยู่เป็นระยะๆ ทำให้การขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษค่ะ เแต่เมื่อเราขึ้นไปถึงกลับมองไม่ค่อยเห็นวิวทิวทัศน์เท่าใดนักค่ะเนื่องจากอากาศเย็นทำให้หมอกลงค่ะ ผาเดียวดายแห่งนี้ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของฐานเรดาห์ทางการทหารเพื่อตรวจสอบอากาศยานในช่วงสงครามอินโดจีนค่ะ

จุดชมวิวบริเวณผาเดียวดาย

***หมายเหตุ หลังจากที่เราไปเที่ยวอุทยานฯ ไม่นาน เพื่อนสาวของเราก็พาครอบครัวออกตามรอยมาอุทยานฯ เช่นกัน โดยพวกเขาเลือกไปน้ำตกเหวนรกกันค่ะ (แถมยังส่งรูปมาเยาะเย้ยอีกด้วย) เส้นทางไปน้ำตกเหวนรกอยู่ตรงเส้นทางปราจีนบุรี-เขาใหญ่ค่ะ น้ำตกอยู่ห่างจากถนนประมาณ 1 กม. ทางอุทยานฯ ทำบันไดเพื่ออำนวยความสะดวกไว้ด้วย แต่ค่อนข้างลาดชันสักเล็กน้อยค่ะ

ทางไปน้ำตกเหวนรก

น้ำตกเหวนรก

น้ำตกเหวนรกเป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสูงที่สุดของอุทยานฯ มีทั้งสิ้น 3 ชั้นค่ะ โดยน้ำจะไหลผ่านจากชั้นแรกซึ่งมีความสูงประมาณ 50 ม. ลงไปจนถึงชั้นที่สองและสาม รวมความสูงสองชั้นนี้ประมาณ 150 ม. และในช่วงฤดูฝน น้ำจะไหลแรงมาก ค่อนข้างอันตรายค่ะ ทางอุทยานฯ จึงแนะนำให้เที่ยวช่วงปลายฝนต้นหนาวค่ะ

จากนั้นเราก็ไปน้ำตกผากล้วยไม้กันค่ะ ระยะห่างจากจุดกางเต๊นท์ 1 กิโลเมตร เราเดินทางเท้าเลาะไปตามห้วยลำตะคองค่ะ (ซึ่งสามารถเดินลัดเลาะไปได้ถึงน้ำตกเหวสุวัตค่ะ แต่เราตัดสินใจไม่ไปเพราะไม่มีเวลาพอ) อากาศยังคงเย็นสบายค่ะ

เมื่อพักผ่อนหย่อนใจกันพอสมควรแล้วเราก็กลับกรุงเทพกันค่ะ เรากลับเส้นทางปราจีนบุรี ออกทางนครนายก เพื่อเข้าสู่กรุงเทพฯ เส้นรังสิตค่ะ ช่วงนั้นเป็นเวลาเย็นพอดี เจ้าหน้าที่เตือนให้เราระวังช้างป่าค่ะ เนื่องจากเวลาและเส้นทางดังกล่าวเป็นช่วงหากินของช้างป่าค่ะ  เราขับไปได้ระยะหนึ่งก็ปรากฏว่า มีช้างโขลงหนึ่งหากินอยู่ที่ป่าข้างทางค่ะ เราหยุดดูจนช้างเดินลึกเข้าไปอีกจึงกลับค่ะ เส้นทางปราจีนบุรีภายในอุทยานฯ นี้เต็มไปด้วยป่าไม้สองข้างทาง ถนนก็เป็นเส้นทางทอดยาว ดูทั้งสวยงามและยิ่งใหญ่ในเวลาเดียวกันค่ะ

เส้นทางกลับ

เส้นทางกลับ (ภาพจากกล้องฟิล์ม)

เราขับรถประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรค่ะ การจราจรที่ติดขัดบ่งบอกว่าเราอยู่ในเมืองแล้วแน่นอน ทั้งที่ภาพป่าเขากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาและสัตว์ป่าน้อยใหญ่ยังติดตาเราอยู่เลยค่ะ เขาใหญ่มอบทั้งความสบายใจและความรู้ทางธรรมชาติที่ทำให้เราเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับเพื่อนร่วมโลก เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการชาร์จแบตของเราเพื่อทำงานในวันต่อไปค่ะ หากใครอยากพักผ่อนหย่อนใจ ดื่มด่ำกับธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คืออีกทางเลือกที่ดีของคุณค่ะ

หญิงร้ายฯ

 ข้อมูลอ้างอิง

http://park.dnp.go.th/visitor/

http://www.weekendhobby.com/offroad/trip/shtml/2635.shtml

http://www.dnp.go.th/foremic/entomology/Web/Butterfly/Bf_name.htm

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=7&chap=2&page=t7-2-infodetail12.html

http://www.triphathara.com/view.php?id=2558

http://pantip.com/topic/32115511

 

 

 

Published in รีวิวจากนักท่องเที่ยว

แสดงความคิดเห็น

comments

ทิ้งคำตอบไว้