หน้าแรก รีวิวจากนักท่องเที่ยว เข้าพรรษา ทำบ...

เข้าพรรษา ทำบุญปล่อยปลา “วัดนางสาว” ใกล้กรุงเทพฯนิดเดียว

8894
0

วัดนางสาว

เข้าพรรษาทั้งที ก็เริ่มอยากจะทำบุญขึ้นมา ยิ่งช่วงนี้ทั้งราหูทั้งดวงดาวพฤหัสเข้าครอบงำ เลยต้องหาโอกาสไปทำบุญไหว้พระปล่อยปลากันซะหน่อย แต่ก็ไม่อยากไปที่เดิมๆ ครั้งนี้เลยหาเรื่องออกนอกกรุงเทพฯไปนิดนึง เปลี่ยนบรรยากาศทำบุญชานเมืองบ้าง…

ศาลาวัดนางสาว

จุดหมายในวันนี้ก็คือ “วัดนางสาว” ประวัติความเป็นมาของวัดมีเรื่องเล่ากันว่า สมัยกรุงศรีอยุธยาที่เกิดสงคราม ชาวบ้านได้พากันไปหลบซ่อนในโบสถ์เก่า หญิงสาวสองพี่น้องรอดพ้นสงครามมาได้ จึงมีความคิดที่จะบูรณะโบสถ์ใหม่ แต่พี่สาวเห็นว่าโบสถ์ทรุดโทรมมากจึงไปสร้างวัดใหม่แทน ส่วนน้องสาวต้องการทำตามสัจจาธิษฐานของตนว่าถ้ารอดตายจะบูรณะซ่อมแซมโบสถ์ จึงดำเนินการบูรณะจนเสร็จและได้ตั้งชื่อว่า “วัดพรหมจารีย์” แต่ชาวบ้านชอบเรียกกันว่า “วัดน้องสาว” จนปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น “วัดนางสาว” ในปัจจุบัน

ศาลาวัดนางสาว2

วัดนางสาว ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ใกล้ๆกรุงเทพฯนี่เอง เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) หากมาจากกรุงเทพฯ ใช้ถนนเพชรเกษม แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 3091 ประมาณ 5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวเข้าซอยวัดนางสาว 2 ประมาณ 1 กิโลเมตร ซอยอาจจะเล็กๆแคบๆซักหน่อย ขับตรงเข้าไปเรื่อยๆได้เลยค่ะ แป๊บเดียวก็เจอวัดแล้ว สะดวกสุดๆหาไม่ยาก

แผนที่วัดนางสาว

ป้ายวัดนางสาว

พอขับรถเข้ามาก็จะเห็นป้าย “วัดนางสาววัดพัฒนาตัวอย่าง” และลานจอดรถกว้างพอสมควร เป็นสถานที่ที่ใหญ่กว้างขวาง อยู่ติดริมแม่น้ำท่าจีน ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงเข้าพรรษา คนยิ่งมาทำบุญกันเยอะทีเดียว

 

ป้ายบอกทางวัดนางสาว ที่จอดรถวัดนางสาว

จอดรถกันแล้ว ก็เดินตรงไปถวายสังฆทานกันก่อนเลยค่ะ วัดนี้อาจจะดูมีหลายศาลา หลายอาคาร จนอาจจะสงสัยได้ว่าต้องไปตรงไหน แต่ไม่ยากเลย เค้ามีเสียงตามสายคอยประกาศตลอดว่าใครต้องการทำอะไรให้ไปตรงไหน แถมยังมีป้ายบอกไว้ชัดเจนอีกด้วย เราก็แค่เดินตามทางไป เจอศาลาก็ถอดรองเท้าแล้วเดินเข้าไปเลยค่ะ

ศาลาถวายสังฆทานวัดนางสาว

สังฑทานคราวนี้ เราเตรียมมาเองค่ะ อยากซื้ออะไรที่พระท่านได้ใช้จริงๆ เลยแวะซื้อที่ห้างเทสโก้โลตัสก่อนเข้ามา ส่วนมากเป็นของใช้ทั่วไปค่ะ ข้าวสาร น้ำดื่ม กระดาษทิชชู่ วันนี้มีพิเศษหน่อย ซื้อพัดลมมาด้วย เพื่อความร่มเย็นในชีวิต (คิดไปนู้น…) นำของมาวาง จุดธูปกราบพระประธาน ก็จะมีพระสงฆ์มานั่งนำสวดถวายสังฆทาน กรวดน้ำ อุทิศบุญกุศล จบด้วยพรมน้ำมนต์ ให้ชีวิตสุขสงบ พบแต่สิ่งดีๆค่ะ

สังฆทานวัดนางสาว

หลังจากนั้นก็เดินลงมาจากศาลา ก็จะเห็นท่าน้ำของวัดนางสาวตรงหน้าเลยค่ะ ที่นี่จะมีอุทยานมัจฉาติดกับแม่น้ำท่าจีน ปกติจะมีฝูงปลาสวายจำนวนมากอาศัยอยู่ สามารถเดินลงไปให้อาหารปลากันได้ จะมีแพลอยน้ำหลังคาสีสันสดใสเรียงต่อกันอยู่หลายแพเลยค่ะ อาหารที่ให้ปลาที่คนนิยมก็นี่เลย “ขนมปัง” ทางวัดมีบริการายราคาห่อละ20บาท 1ห่อก็ใหญ่อยู่เหมือนกันค่ะ ว่าแล้วก็เดินลงไปให้อาหารปลากันเลย …แต่น่าเสียดาย ไม่ค่อยมีปลาซักเท่าไร ชาวบ้านที่นี่บอกว่า ช่วงนี้ฝนตก น้ำขึ้น ปลาก็เลยน้อย แต่ก็ยังพอมีอยู่บ้างค่ะ

ท่ามัจฉาวัดนางสาว ขนมปังปลาวัดนางสาว

การทำบุญของเรายังไม่หมดเพียงเท่านี้ ไฮไลท์ของวันนี้คือ การปล่อยปลา เดินออกมาจากท่าวัดนิดหน่อย เอาจริงๆแทบตะติดกันเลยค่ะ ก็จะมีร้านขายปลาปล่อยหลายร้านเลย เราก็เลือกร้านที่ใกล้ท่าน้ำมากที่สุด เดินเข้าไปแม่ค้าก็จะยื่นกระดาษให้ใบนึง ข้างในมีบทสวดปล่อยปลา แล้วก็อธิบายว่าปลาอะไรหมายถึงอะไร คนเกิดวันไหนควรจะปล่อยกี่ตัว แนะนำกันดีเลยค่ะ วันนี้เลยจัดปลาไหล มาปล่อยให้ชีวิตไหลลื่น ทำอะไรก็โชคดีกันไป

ปล่อยปลาวัดนาวสาว2ปล่อยปลาวัดนางสาว1

เดินลงมาที่ท่าข้างๆวัด แล้วก็สวดมนต์ อธิษฐานจิต แล้วก็ปล่อยปลาไหลลงไปเลย ง่ายมากๆ แถมให้อาหารปลาที่เหลือมาจากเมื่อกี้อีกซะหน่อย ชมวิวแม่น้ำท่าจีนอีกนิด วิวที่นี่ เป็นวิวชานเมือง ที่มีต้นกล้วยต้นมะพร้าว ดูเงียบสงบดีค่ะ เหมาะแก่การมานั่งพักผ่อนหย่อนใจ

แม่น้ำท่าจีนวัดนางสาว

จริงๆ โบราณสถานที่ขึ้นชื่อของวัดนางสาวนี้ คือ “โบสถ์มหาอุตตม์” ที่ที่เป็นที่มาของประวัติความเป็นมาของชื่อวัดนางสาวนี้เอง โบสถ์หลังนี้มียักษ์ทวารบาล 2 ตน นอกกำแพง โบสถ์ที่มีฐานโค้งเป็นรูปเรือสำเภาก่ออิฐ มีประตูเข้าออกเพียงประตูเดียว

หลวงพ่อมหาอุตตม์ ผนังโบสถ์มหาอุตตม์ ประตูโบสถ์มหาอุตตม์ โบสถ์มหาอุตตม์ด้านข้างอุโบสถ เป็นอิฐลวดลายนูนต่ำลงสีอย่างสวยงามเป็นภาพเรื่องราว ด้านในประดิษฐาน หลวงพ่อมหาอุตตม์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านใกล้เคียง มีความศรัทธาเดินทางเข้ามาสักาาระกราบไหว้ไม่ได้ขาด โบสถ์มหาอุตตม์ มีความเชื่อกันว่า เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ในการลงอาคมของขลัง การทำเป็นอาคารทึบก็เพื่อให้อาคมคงอยู่และมีพลังความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น และในปัจจุบันนี้ พระอุโบสถมหาอุตตม์ มีเหลืออยู่น้อยมากในประเทศไทย ประมาณ 3-4 แห่งเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นศาสนโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เอาไว้ค่ะ

Published in รีวิวจากนักท่องเที่ยว

แสดงความคิดเห็น

comments

ทิ้งคำตอบไว้